มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จัดกิจกรรมแสดงความขอบคุณและรายงานผลการดำเนินงานแก่คณะทูตอาเซียน และติมอร์-เลสเต​ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงสื่อสารมวลชน ที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมทั้งในประเทศไทย อาเซียน และติมอร์-เลสเต

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จัดกิจกรรมแสดงความขอบคุณและรายงานผลการดำเนินงานแก่คณะทูตอาเซียน และติมอร์-เลสเต​ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงสื่อสารมวลชน ที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมทั้งในประเทศไทย อาเซียน และติมอร์-เลสเต เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ณ พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด พญาไท กรุงเทพฯ

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้กล่าวต้อนรับและแสดงความขอบคุณกับแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมในงานครั้งนี้และกล่าวถึงกิจกรรมของมูลนิธิฯ ว่า ตั้งแต่ปี 2562-2563 มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มีกิจกรรมที่สำคัญ คือ การเยี่ยมครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รุ่นที่ 3 การประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 2 การพัฒนาครูต่อเนื่องหลังจากได้รับพระราชทานรางวัลแล้ว การประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 และการคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

ทั้งนี้ กิจกรรมต่าง ๆ ของมูลนิธิมีความก้าวหน้าและสำเร็จได้ด้วยการสนับสนุนอย่างดียิ่ง จากคณะกรรมการด้านต่าง ๆ ของมูลนิธิฯ และหลายภาคส่วน อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตไทยใน 10 ประเทศ สถานเอกอัครราชทูต 10 ประเทศในประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการของทั้ง 11 ประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และภาคเอกชนของไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ คณะกรรมการระดับจังหวัด หน่วยงานด้านการพัฒนาบุคลากร เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และสื่อสารมวลชน

ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวถึงการเยี่ยมครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 ว่าเมื่อการคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 ปี 2562 เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีและผู้ที่เกี่ยวข้องได้เดินทางไปยังประเทศอาเซียน และติมอร์-เลสเต เพื่อพบและเตรียมจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาครู โดยการเดินทางไปแต่ละประเทศ คณะผู้เดินทางจะต้องเข้าพบบุคคลจากหน่วยงาน 3 แห่ง คือ

1) รัฐมนตรีและข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการของประเทศนั้น ๆ เพื่อจะได้รับทราบทิศทางการจัดการศึกษา แนวทางการพัฒนาครู และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีครั้งต่อไป

2) เอกอัครราชทูตและข้าราชการของสถานทูตไทยประจำประเทศนั้น ๆ เพื่อเชื่อมโยงและความสนับสนุนจากภาคเอกชนของไทยในแต่ละประเทศมากขึ้น รวมทั้งการเชิญให้ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเข้าร่วมกิจกรรมของสถานทูตในฐานะ Friend of Thailand

3) ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ผู้บริหาร และนักเรียน ณ โรงเรียนที่ครูสอนอยู่ ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่ครูเป็นอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันมูลนิธิฯ จะได้รับทราบสภาพการจัดการศึกษา/สภาพโรงเรียน/สภาพนักเรียนที่แท้จริง นอกจากนี้ ยังทราบความต้องการการพัฒนาของครูที่สอดคล้องกับสภาพโรงเรียน ซึ่งมูลนิธิฯ จะสามารถให้ความสนับสนุนได้อย่างแท้จริง

ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวถึงการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 2 ว่ามูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 – 17 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร โดยกิจกรรมในงานประกอบด้วย 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การปาฐกถาพิเศษ 2) การอภิปราย (Panel Session) และ 3) การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Show and Share Session)

ส่วนการพัฒนาครูต่อเนื่องหลังจากได้รับพระราชทานรางวัลแล้วนั้น มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรียังคงทำงานร่วมกับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีหลังจากได้รับพระราชทานรางวัลแล้วอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนและขยายงานที่ดำเนินการอยู่ให้เกิดประโยชน์ที่ขยายวงกว้างออกไป โดยประกอบด้วย 3 กลุ่มกิจกรรมหลัก ดังนี้ การสนับสนุนและการขยายงาน การทัศนศึกษาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์

และในปี 2563 มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 22 – 23 ตุลาคม 2563 ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพมหานคร โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการประชุม และพระราชทานพระราชดำรัสเปิดการประชุม ในวันที่ 22 ตุลาคม 2563

นอกจากจัดให้มีพิธีเปิดการประชุม ณ ห้องฉัตรา บอลรูม โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ แล้ว มูลนิธิฯ ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศในการประสานให้สถานเอกอัครราชทูตไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน และติมอร์-เลสเต จัดการประชุมแบบออนไลน์ในลักษณะคู่ขนานกับการประชุมที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทยในการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 (ประเทศไทย) ร่วมเฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีเปิดการประชุมด้วย

อีกทั้งยังมีการถ่ายทอดสดในพิธีเปิดการประชุมโดยความร่วมมือจากกรมประชาสัมพันธ์ และจัดให้มีการลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมทางออนไลน์ ซึ่งสามารถเข้าร่วมการประชุมได้ทั้งวันที่ 22 และ 23 ตุลาคม 2563 จากการให้มีการถ่ายทอดทางเฟสบุ๊ก (Facebook) และยูทูบ (YouTube) ตลอดการประชุม และสามารถเข้าชมย้อนหลังได้ด้วย

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมด้วยการลงทะเบียนออนไลน์ จำนวน 2,309 คน และในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 มีการชมทาง Facebook Live จำนวน 20,107 ครั้ง และในวันที่ 23 ตุลาคม 2563 มีการชมทาง Facebook Live จำนวน 15,361 ครั้ง การชมทาง You Tube จำนวน 413 ครั้ง และการชมทางเว็บไซต์ (www.pmca.or.th) 359 ครั้ง

ดร.กฤษณพงศ์ ได้กล่าวถึงการคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ว่า มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจัดให้มีการคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีทุก 2 ปี โดยปี 2563 เป็นการคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รุ่นที่ 4 โดยมูลนิธิฯ ได้แจ้งให้กระทรวงศึกษาธิการของประเทศในกลุ่มอาเซียน และติมอร์-เลสเต ทราบ รวมถึงชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ปี 2564 รวมทั้งขอความร่วมมือกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อแจ้งให้สถานเอกอัครราชทูตไทยของประเทศในกลุ่มอาเซียน และติมอร์-เลสเต เพื่อทราบและประสานความร่วมมือการคัดเลือกในแต่ละประเทศ โดยการเสนอรายชื่อครูฯ จะดำเนินการภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้

การจัดกิจกรรมวันดังกล่าวนี้ได้มีการจัดการแสดงนาฏศิลป์จากลูกศิษย์ของครูเครือข่ายมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี อาทิเช่น การแสดงชุด “นาฏมวยไทย” นำโดย ครูณัชตา ธรรมธนาคม แม่ครูผู้ใช้นาฏศิลป์เปลี่ยนชีวิตลูกศิษย์จากชุมชนคลองเตย โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ และการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน ชุดนางลอยตอนหนุมานจับนางเบญจกาย และ ชุดยกรบ จากโรงเรียนวัดกก เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร นำโดย ครูธีรพันธ์ งามถิ่น ครูข้าราชการบำนาญ