มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร หน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เชิญชวนเสนอชื่อ “ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” ครั้งที่ 4 ครูผู้ใช้ทั้งชีวิตเปลี่ยนแปลงลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา ชี้ถึงบทบาทครูสำคัญที่ช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่หอสมุดคุรุสภา มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร หน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวเปิดตัวการสรรหาครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 โดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระปรีชาและทรงมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการศึกษาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นรางวัลพระราชทานระดับนานาชาติ เพื่อเชิดชูเกียรติครูดีเด่นในอาเซียนและติมอร์-เลสเต 11 ประเทศ ซึ่งจะมีการคัดเลือก ประเทศละ 1 คน เป็นเวลา 2 ปีต่อครั้ง


ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร
ประธานคณะกรรมการมูลนิธิ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

ประธานคณะกรรมการมูลนิธิ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 มีกำหนดพระราชทานรางวัลในวันที่ 29 ตุลาคม 2564 โดยประเทศไทยและประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต กำลังคัดเลือกครูผู้มีผลงานดีเด่นและสร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษา สำหรับประเทศไทยได้กำหนดคุณสมบัติเฉพาะ คือ เป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา โดยเป็นหรือเคยเป็นครูผู้สอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานศึกษาทุกสังกัด รวมถึงครูนอกสถานศึกษาที่สอนผู้เรียนในวัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีประสบการณ์สอนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 15 ปี และปฏิบัติงานสอนหรืองานด้านการศึกษาอยู่จนถึงวันรับพระราชทานรางวัล ทั้งนี้ผู้มีสิทธิ์เสนอชื่อครู แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ศิษย์เก่าอายุ 25 ปีขึ้นไป สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน องค์กรนิติบุคคลและมีภารกิจส่งเสริมการเรียนรู้ และคณาจารย์ที่เคยเป็นผู้สอนครู เสนอชื่อครูได้ที่คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด ส่วนกลุ่มที่ 2 องค์กรภาครัฐและเอกชนคัดเลือกครูระดับประเทศ เพื่อเสนอมาที่คณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง จากนั้นจะมีการคัดเลือกและลงพื้นที่เพื่อพิจารณาครูผู้สมควรได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เพียง 1 คนของประเทศไทย และเนื่องจากการคัดเลือกมาจากสุดยอดครูของแต่ละจังหวัด มูลนิธิฯ จึงมอบรางวัลครูขวัญศิษย์ ซึ่งมาจากสุดยอดครูของจังหวัด รางวัลครูยิ่งคุณ 17 คน และรางวัลคุณากร 2 คน เพื่อให้สังคมเห็นคุณค่าและเชิดชูครูผู้ทุ่มเทเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์ตลอดทั้งชีวิตของความเป็นครู

“โจทย์ท้าทายการทำงานของครูและการเรียนรู้ของผู้เรียนในยุคความปกติใหม่ (New Normal) ที่กำลังเกิดขึ้น คือ การเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด (Digital Disruption) ที่โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ครูต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีและเหตุการณ์ เช่น การสอนที่ถูกกำหนดด้วยการรักษาระยะห่าง (social distancing) การช่วยเด็กที่ครอบครัวช่วยไม่ได้ รวมถึงความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากข้อมูลเบื้องต้นของ กสศ. พบว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบทางลบให้จำนวนนักเรียนยากจนพิเศษเพื่อจัดสรรทุนเสมอภาคถึง 1.8 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยากจนและเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน บทบาทของครูจึงมีส่วนช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กเยาวชน เพื่ออุดช่องว่างของการไม่ได้เรียนหนังสือเต็มที่ตามปกติ ความยากจนของครอบครัวเพิ่มความเหลื่อมล้ำ ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้สร้างพื้นที่การทำงานร่วมกับครูไทยและครูในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ผ่านเวทีวิชาการนานาชาติ การประชุมแลกเปลี่ยนการทำงานผ่านระบบออนไลน์ถึงรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ที่ทั่วโลกต้องเผชิญ การส่งเสริมศักยภาพครูให้มีความฉลาดรู้ดิจิทัล (Digital literacy) การถอดบทเรียนจากประสบการณ์การทำงานของสุดยอดครู การสร้างจิตวิญญาณความเป็นครูให้กับครูรุ่นใหม่ รวมถึงการต่อยอดการทำงานของครูผู้ทุ่มเทในกลุ่มเด็กเยาวชนที่ขาดโอกาส เพราะมากกว่าการคัดเลือกครู คือ การสร้างพลังเครือข่ายการทำงานของครูในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ที่ส่งผลถึงลูกศิษย์ เพื่อนครู โรงเรียน และคุณภาพการศึกษา” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว

นายสมคิด จันทมฤก
รองปลัดกระทรวงมหาดไทย

นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวด้วยว่า กลไกของคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด ซึ่งมาจากหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ศึกษาธิการจังหวัดเป็นเลขานุการ มีส่วนสำคัญในการสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อร่วมกันค้นหาครูที่มีจิตวิญญาณในการเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษาในทุกจังหวัด จึงขอเชิญชวนร่วมกันส่งรายชื่อครูมาที่คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด และเป็นปีแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อได้ โดยส่งเรื่องราวของครูมาที่ www.PMCA.or.th โดยระบบจะส่งข้อมูลเพื่อแจ้งเบาะแสครูที่ดีให้กับคณะกรรมการจังหวัดในการค้นหาครูต่อไป

 

 

 

นายจักรวาร เสาธงยุติธรรม
นักดนตรี โปรดิวเซอร์และนักเรียบเรียงเพลง

นายจักรวาร เสาธงยุติธรรม นักดนตรี โปรดิวเซอร์และนักเรียบเรียงเพลง กล่าวถึงครูผู้เปลี่ยนชีวิตว่า สิ่งสำคัญที่ได้รับจากครูมากกว่าความรู้ คือโอกาส ตอนเรียนอยู่ชั้น ม. 1 วิทยาลัยนาฏศิลป์ วิชาเอกไวโอลิน วิทยาลัยมีกฎห้ามนักเรียนจับเครื่องดนตรีที่ไม่ได้เลือกเรียน ทำให้ต้องแอบซ้อมเปียโน แกะตัวโน้ต เพื่อไปทำงานเป็นนักดนตรีกลางคืน โดยมีครู 2 ท่านคอยช่วยเหลือ คือ ครูเอกเปียโนที่มอบกุญแจห้องพักครูไว้ให้ซ้อมตอนกลางคืน และครูสุทินที่รู้ว่ามีนักเรียนทำผิดกฎแต่ก็ยอมปล่อย เพราะรู้ว่าต้องใช้ประกอบอาชีพ ครูจึงเป็นคนเปิดโอกาสและสอนให้รู้จักใช้ชีวิต รู้จักอดทน เพราะชีวิตคนไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน แต่ต้องมีประสบการณ์ข้างนอกด้วย นอกจากนี้ยังมีครูกัลยา ครูสอนภาษาไทย นาฏศิลป์ และครูฝ่ายปกครองที่ทุกคนเกรงกลัวถึงความเข้มงวด แต่ตนไม่รู้สึกกลัว เพราะท่านไม่เคยดุและพูดเพราะอยู่เสมอ ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากครู จึงสอนให้ทุกเหตุการณ์และทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตสามารถเป็นครูที่จะสอนให้เราพัฒนาขึ้นได้เสมอ

นายเกวลัง ธัญญเจริญ เจ้าของธุรกิจส่วนตัว
อดีตนักศึกษาวิทยาลัยสารพัดช่างพระนครศรีอยุธยา แผนกวิชาช่างเทคนิคอุตสาหกรรม

นายเกวลัง ธัญญเจริญ เจ้าของธุรกิจส่วนตัว อดีตนักศึกษาวิทยาลัยสารพัดช่างพระนครศรีอยุธยา แผนกวิชาช่างเทคนิคอุตสาหกรรม จบการศึกษาในทัณฑสถานวัยหนุ่มพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า รู้จักกับครูเกษมสุข ชัยชิตาทร ครูผู้บุกเบิกแผนกวิชาช่างเทคนิคอุตสาหกรรมในทัณฑสถานวัยหนุ่ม เพราะเคยต้องคดียาเสพติด ประทับใจในการสอนที่ทุ่มเท ยอมแบกเครื่องจักรน้ำหนัก 30 – 40 กิโลกรัม มาให้ลูกศิษย์ได้ลงมือทำจริง รวมถึงประสานผู้ที่มีความรู้จากภายนอก พารุ่นพี่ที่จบแล้วมีงานทำมาแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดวิชาชีพ และเล่าเรื่องราวจากโลกภายนอก ซึ่งเป็นเหมือนการให้ภูมิคุ้มกัน บางคนญาติยังไม่มาเยี่ยม ครูก็โทรประสานและหาชุดนักศึกษามาให้ใส่ เพื่อสร้างบรรยากาศในการเรียน ครูจึงไม่ได้ดูแลแค่หน้าที่การสอน แต่เป็นครูผู้ให้โอกาสคน

นายอนุชิต วัฒนาพร อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

นายอนุชิต วัฒนาพร อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า ตนได้แบบอย่างความเป็นครูจากครูปราณี วิจิตรโชติ ครูขวัญศิษย์ ปี 2558 ผู้ถ่ายทอดความมีวินัย ความเป็นระเบียบ ท่านเข้มงวดโดยใช้คำพูดให้อยู่ในร่องในรอยของการเรียน แต่ไม่เคยเห็นท่านใช้กำลังลงโทษเด็ก ซึ่งตรงนี้สำคัญมากที่ลูกศิษย์จะกล้าเข้าหาครูอย่างไม่กลัว ท่านดูแลลูกศิษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียม และเมื่อครูปราณีได้มาเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างแรงบันดาลใจของความเป็นครูให้กับครูรุ่นใหม่ก็รู้สึกประทับใจว่านี่คือครูของเรา สิ่งที่ตนได้จากครูปราณีและจะสร้างครูรุ่นต่อไปคือครูต้องมีอุดมการณ์ พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อพัฒนาลูกศิษย์ ใช้ความรักนำและวิธีการจัดการศึกษาค่อยตามมา