มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีนำเครือข่ายครูศึกษางานอุตสาหกรรมชีวภาพต่อยอดพัฒนาศิษย์


มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับกลุ่มมิตรผล จัดกิจกรรมส่งเสริมเครือข่ายครูเพื่อพัฒนาศักยภาพ ศึกษาดูงานด้านอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล และเทคโนโลยีชีวภาพครบวงจร ณ อุทยานมิตรผลภูเขียว และหนองแซงโมเดล อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เพื่อเปิดโลกทัศน์การเรียนรู้ให้กับครูเครือข่ายมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

การจัดโครงการศึกษาดูงานด้านอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล และเทคโนโลยีชีวภาพครบวงจรครั้งนี้ ได้จัดขึ้น ณ อุทยานมิตรผลภูเขียว อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ระหว่างวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ 2563

ทั้งนี้ การก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ทำให้หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพในเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยเน้นการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่พืชเศรษฐกิจ และสามารถนำมาใช้ทดแทนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไปได้ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยก็อาศัยแนวคิดดังกล่าวเป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมเครือข่ายครูเพื่อพัฒนาศักยภาพครูครั้งนี้ เพื่อเปิดโลกทัศน์การเรียนรู้ให้กับครูเครือข่าย เพราะมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี พบว่าจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อการพัฒนาการทำงานของครู หากเครือข่ายครูจำนวนมากกว่า 500 คน ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศที่สามารถเป็นกำลังในการพัฒนาการศึกษา เพื่อให้เกิดการสานต่องานและต่อยอดขยายผลการทำงานของครูในการนำไปสู่การส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาโครงงานทางวิทยาศาสตร์และกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ต่อไป

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นำเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครูรางวัลยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์ ประกอบด้วย โรงเรียนสตรีชัยภูมิ โรงเรียนอนุบาลชัยภูมิ โรงเรียนกมลาไสกาฬสินธุ์ โรงเรียนชุมชนหนองยางวิทยาคมกาฬสินธุ์ โรงเรียนหินลาดนารายณ์สารกาฬสินธุ์ โรงเรียนอนุบาลดอนไผ่หนองคาย โรงเรียนมัธยมวานรนิวาสสกลนคร โรงเรียนหล่มเก่าพิทยาคมเพชรบูรณ์ โรงเรียนเมืองราดวิทยาคมเพชรบูรณ์ โรงเรียนบ้านห้วยมุ่นเพชรบูรณ์ โรงเรียนบ้านท่าผูเพชรบูรณ์ โรงเรียนท่าตูมประชาเสริมวิทย์สุรินทร์ โรงเรียนเมืองแกพิทยาสวรรค์สุรินทร์ โรงเรียนทุ่งกุลาพิทยาคมสุรินทร์ และครูรางวัลจากสุราษฎร์ธานี ศึกษางานอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล และเทคโนโลยีชีวภาพ ต่อยอดพัฒนาการเรียนรู้ของศิษย์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 ณ อุทยานมิตรผลภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

ทั้งนี้ รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยของกลุ่มมิตรผลและคณะ ให้การต้อนรับและได้ชี้ให้เห็นนวัตกรรมของกลุ่มมิตรผลแบ่งออกเป็นธุรกิจน้ำตาล และธุรกิจพลังงาน ซึ่งกลุ่มมิตรผลเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และอันดับ 1 ของไทย โดยระบุว่า กลุ่มมิตรผลได้คัดสรรอ้อยคุณภาพดีเข้าสู่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยจนเกิดเป็นหลากหลายผลิตภัณฑ์น้ำตาลคุณภาพมาตรฐานสากล สำหรับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้การจัดการไร่อ้อยสมัยใหม่คือ มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม ซึ่งเป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการไร่อ้อยที่ประยุกต์แนวคิดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย เพื่อให้ชาวไร่อ้อยมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ลดต้นทุน ลดการใช้แรงงาน อนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี

ส่วนธุรกิจด้านพลังงาน กลุ่มมิตรผลแบ่งเป็น ไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลรายใหญ่ในเอเชียแปซิฟิก โดยการใช้ชานอ้อยจากกระบวนการผลิตน้ำตาล และชีวมวลทางการเกษตรถูกนำมาพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการผลิตเป็นไฟฟ้าชีวมวล หนึ่งในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของกลุ่มมิตรผลที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย

ด้านเอทานอล ซึ่งกลุ่มมิตรผลเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในอาเซียน ด้วยการนำน้ำอ้อยและโมลาสที่เป็นผลพลอยได้จากระบวนการผลิตน้ำตาลถูกนำมาพัฒนาต่อยอดสู่การผลิตเอทานอล บริสุทธิ์คุณภาพสูง ที่นำไปผสมกับน้ำมันเบนซินจนเกิดเป็นน้ำมันแก๊ซโซฮอลสำหรับรถยนต์ จึงช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน

กลุ่มมิตรยังมีอีกหนึ่งผลผลิตที่ต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากกระบวนการผลิตเอทานอลที่เกิดจากการปั่นแยกยิสต์ออกจากน้ำหมัก และนำไปพัฒนาเพิ่มความเข้มข้นอบแห้งจนได้ยิสต์ที่สามารถใช้เป็นส่วนผสมสำหรับอาหารสัตว์ ทดแทนปลาป่นหรือถั่วเหลืองที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของไทย

ขณะที่เครือข่ายครูของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีที่ศึกษาการผลิตและนวัตกรรมของกลุ่มมิตรผลในครั้งนี้นั้น โดย นายเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2558 จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เปิดเผยว่า จากการที่ได้ดูงานของโรงงานมิตรผลก็ทำให้เปิดโลกทัศน์ว่าในประเทศไทยก็มีโรงงานที่สามารถที่จะผลิตโดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุด ซึ่งอันนี้ก็มีหลายแง่มุมที่สามารถนำไปจัดการเรียนรู้ได้ เพราะว่าทุกขั้นตอนของการผลิตนั้นก็จะมีนวัตกรรมของเขา ถ้าเราดูดี ๆ นวัตกรรมทุกขั้นตอนของการผลิต ไม่ว่าจะทำเป็นน้ำตาล ทำเป็นพลังงาน แต่ละขั้นตอน เขาจะมีนวัตกรรมของเขา ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยน่าจะมีโรงงานอย่างนี้มาก ๆ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียนและให้กับครู ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ของครูว่า ณ ปัจจุบันนี้เขาทำอะไรกันอยู่ เขาจะสอนนักเรียนไปทางไหน ซึ่งครูจะได้ไม่หลงทาง ปัจจุบันนี้ครูโดยส่วนใหญ่จะสอนให้จำและนำไปทำข้อสอบอย่างเดียว ทำให้ไม่เกิดนวัตกรรม จึงเห็นว่าครูควรจะต้องมารับองค์ความรู้จากโรงงานเหล่านี้เพื่อจะได้เห็นการพัฒนาในทางนวัตกรรม เพราะถ้าให้นักเรียนจำอย่างเดียวแล้ว นักเรียนจะทำอะไรไม่เป็นเลย

นายเฉลิมพร ให้ทัศนะอีกว่า การเรียนรู้ของนักเรียนจะต้องลงมือปฏิบัติผ่านกิจกรรมเพื่อให้เกิดการคิด เมื่อเกิดกระบวนการคิดก็จะสามารถนำองค์ความรู้ที่เขารู้ไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมได้ อันนี้จะเป็นแนวทางการเรียนรู้ที่ถูกต้อง นั่นก็คือสอนให้เขาสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดให้เป็นนวัตกรรมโดยผ่านกระบวนการคิด หรืออีกแนวหนึ่งในปัจจุบันนี้ก็คือ สะเต็มศึกษา คือ แนวทางการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ไปใช้ในการเชื่อมโยงและแก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งสะเต็มศึกษาจะได้ถูกออกแบบในบริบทของเขา

ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2558 กล่าวถึงครูเครือข่ายที่มาศึกษาดูงานในครั้งนี้ด้วยว่า เครือข่ายครูจะได้นำประสบการณ์ในพื้นถิ่นซึ่งเป็นบริบทของครูในเรื่องการทำไร่อ้อยและน้ำตาล ซึ่งเขาสามารถนำเอาสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นไปทำการสอนที่ดีมากขึ้น และสามารถที่จะนำพานักเรียนให้เกิดกระบวนการคิด เกิดกระบวนการสร้างนวัตกรรม ซึ่งสามารถนำไปสอดแทรกในวิชาสะเต็มศึกษาได้เลย คือนำเอาปัญหาจากท้องถิ่นและนำมาแก้โดยกระบวนการวิศวกรรมโดยอาศัยวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เข้ามาบูรณาการ เช่น หลักสูตรของ สสวท.ที่มีการสอนอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องนโยบายที่สอนให้นักเรียนสร้างนวัตกรรมได้เป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้วของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะ สสวท.ก็สนับสนุนครูวิทยาศาสตร์ทำการสอนโดยใช้กระบวนการสะเต็มอันนำไปสู่นวัตกรรม ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายที่ชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้น ครูจะต้องนำแนวทางนี้ไปปฏิบัติให้เกิดเป็นชิ้นงานขึ้นมา เพราะเมื่อนำไปสอนนักเรียนแล้ว นักเรียนจะเกิดผลงานอะไรบ้าง โดยอาศัยท้องถิ่นของตนเอง โดยใช้บริบทใกล้ตัว เช่นอาชีพของท้องถิ่น อาชีพของผู้ปกครองที่มีอยู่เป็นฐานในการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้เขาเรียนรู้ได้ง่าย มิใช่นำบริบทที่กรุงเทพฯ มา แต่ต้องนำบริบทของท้องถิ่นของตนเอง

“สำหรับครูที่มาศึกษาดูงานครั้งนี้เป็นครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในระดับครูยิ่งคุณ ครูขวัญศิษย์ ซึ่งเขาก็มีความรู้ความสามารถอยู่แล้ว เพียงแต่ให้เขาได้เข้ามาเติมเต็มบางอย่างก็จะสามารถพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของเขาได้ดียิ่งขึ้น และมองเห็นแนวทางที่ชัดขึ้นในการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน ครูเหล่านี้พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าอยู่แล้ว” ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง