มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีสนับสนุนครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจาก สปป. ลาว รุ่นที่ ๓ ปี ๒๕๖๒ ศึกษาดูงานการจัดการศึกษาของโรงเรียนและโครงการในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ในจังหวัดน่านและแพร่

เมื่อวันที่ ๑ – ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓  ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และคณะจัดกิจกรรมศึกษาดูงานให้กับครูไพสะนิด ปันยาสะหวัด และคณะครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประจำประเทศลาว ปี พ.ศ. ๒๕๖๒  ประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งได้นำคณะผู้บริหารและคณะครู ๙ ท่านจากโรงเรียนมัธยมศึกษาสันติภาพ นครหลวงพระบาง สปป.ลาว มาศึกษาดูงานด้านการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา ของโรงเรียนไทยในจังหวัดน่านและแพร่ รวมทั้งโครงการในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่หลวงพระบาง 

กิจกรรมทัศนศึกษาครั้งนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือ กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  (มจธ.) ศูนย์ประสานงานในพื้นที่น่าน และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน ผ่านสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๓๗ (แพร่-น่าน) และหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้แทนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)  ในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เข้าร่วมศึกษาดูงานกับคณะครู สปป.ลาว ในครั้งนี้ด้วย 

ในการนี้ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  (มจธ.) กล่าวว่า 

“การจัดกิจกรรมศึกษาดูงานในครั้งนี้เป็นโครงการที่จัดให้ตามที่คณะครูไพสะนิด ปันยาสะหวัด จากนครหลวงพระบาง สปป.ลาว ได้เสนอความต้องการที่อยากจะเรียนรู้ โดยทางมูลนิธิฯ ได้เลือกพื้นที่สำหรับศึกษาดูงานโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ครูจากสปป.ลาวจะนำไปต่อยอดการพัฒนาการเรียนรู้และการศึกษาที่ใกล้เคียงกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของพื้นที่ โดยเฉพาะในจังหวัดน่านนี้มีพื้นที่ที่อยู่ในโครงการในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาการศึกษา และการส่งเสริมวิทยาศาสตร์นวัตกรรมต่างๆ เพื่อชีวิต อยู่หลายแห่งที่น่าจะช่วยเปิดโลกทัศน์และสร้างประสบการเรียนรู้ให้กับครูได้เห็นทั้งโจทย์การศึกษา นวัตกรรม และมิติของการสร้างทักษะให้กับเด็กเยาวชนในอนาคตได้” 

ทั้งนี้ กิจกรรมศึกษาดูงานประกอบด้วยการศึกษาโครงการในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาการศึกษา และการส่งเสริมวิทยาศาสตร์นวัตกรรมต่างๆ เพื่อชีวิต โรงเรียนและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม 

๑. การศึกษาดูงานโครงการในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีสำนักงาน มจธ.พื้นที่จังหวัดน่าน เป็นหน่วยประสานและปฏิบัติงานในพื้นที่ ซึ่งได้ศึกษาดูงานการจัดการศึกษาสำหรับเด็กบนพื้นที่สูงและในถิ่นทุรกันดาร ได้แก่โรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เป็นโรงเรียนที่มีการจัดการศึกษาแบบทวิภาคีร่วมกับวิทยาลัยการอาชีพปัว เน้นการสร้างทักษะอาชีพให้กับผู้เรียน และโรงเรียนบ้านสว้า มีห้องเรียนสาขา ๓ แห่งในหมู่บ้านบนดอยที่ห่างไกล คือ บ้านป่ากำ ขุนน้ำจอน ห้วยลัวะ ที่เน้นการสร้างโอกาสการเรียนรู้ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และทักษะการทำงานและดำรงชีวิต

๒. การศึกษาการเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านในชุมชนบ้านบ่อหลวง แหล่งผลิตเกลือสินเธาว์แบบโบราณ อายุกว่า ๗๐๐ ปี และเยี่ยมชม “กาดละอ่อน” โดยมีมัคคุเทศก์น้อยของชุมชนบ่อหลวงพาเยี่ยมชน จากนั้นยังได้การศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวมละบริในศูนย์วัฒนธรรมภูฟ้า ชุมชนชาวลั้วะที่พัฒนาเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่  ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ อ.ภูเพียง จ.น่าน ศูนย์กลางการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนระหว่างเกษตรกรคนในชุมชน โดยมีพ่อสำรวย ผัดผล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองจัง จังหวัดน่าน ประธานมูลนิธิฮักเมืองน่านผู้บุกเบิกศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ มาร่วมให้ความรู้เรื่องการทำงานของศูนย์ฯ เพื่อสร้างองค์ความรู้เรื่องข้าว เกษตรกรรมและการจัดการน้ำในจังหวัดน่าน

๓. การศึกษาเยี่ยมชมศาสนาสถาน โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม อาทิ การเยี่ยมชมวัดหนองบัว หรือวัดไทลื้อ  ซึ่งเป็นวัดของชาวไทลื้อ มีพิพิธภัณฑ์ไทลื้อ และภายในวัดยังมีจิตรกรรมฝาผนังร่วมเชื่อว่ามาจากช่างร่วมยุคสมัยกับวัดภูมินทร์ และยังมีภาพเด่นของหนุ่มสาวจูงมือ  สักการวัดพระธาตุแช่แห้ง วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดภูมินทร์ วัดหัวข่วง คุ้มเจ้าราชบุตร และเยี่ยมชมย่านเมืองเก่าของจังหวัดน่าน เดินทางไปสักการวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง (วัดศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองแพร่) คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ โดยได้เรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์วัฒนธรามและความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างน่าน-แพร่กับหลวงพระบาง สปป.ลาว จากวิทยากรท้องถิ่น และพระอาจารย์ตามศาสนาต่างๆ อีกด้วย

๔. การศึกษาดูงานการบริหารจัดการศึกษาของโรงเรียนขนาดใหญ่โรงเรียนสตรีศรีน่าน อ.เมือง จ.น่าน โรงเรียนพิริยาลัย อ.เมือง จ.แพร่ ที่มีเด็กนักเรียนโดยเฉลี่ย 2,000 กว่าคน เพื่อดูงานการบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนทั้งในด้านสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เน้นวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม STEM ศึกษา กิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นจุดแข็งของโรงเรียน และเยี่ยมเยือนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๓๗ (แพร่-น่าน)

ด้านครูไพสะนิด ปันยาสะหวัด สะท้อนว่า การเดินทางมาศึกษาดูงานของคณะครูของโรงเรียนคณะผู้บริหารและคณะครู ๙ ท่านจากโรงเรียนมัธยมศึกษาสันติภาพ นครหลวงพระบาง สปป.ลาว นับว่ามีคุณค่าอย่างยิ่ง 

“ข้าพเจ้าประทับใจในทุกที่ที่ไป และได้เห็นพระบารมีของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทำงานพัฒนาคนและสังคมในหลายมิติ และยังได้เห็นความสัมพันธ์ของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจังหวัดน่านและแพร่ที่มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของหลวงพระบาง ทำให้เรื่องที่ข้าพเจ้าเรียนรู้ในประวัติศาสตร์ขยายขอบเขตกว้างขึ้น ซึ่งจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้นี้ไปบอกเล่าถ่ายทอดให้กับเพื่อนครู และไปต่อยอดการจัดการเรียนรู้ของข้าพเจ้าต่อไป ในอนาคตอยากมีกิจกรรมต่อเนื่องที่จะเชื่อมโยงการพัฒนาการเรียนรู้เป็นเรื่องๆ ไป และหากมาโอกาสอยากให้ครูไทยและครูลาวหรือนักวิจัยไทย หรือนักเรียนได้ไปมาหาสู่พัวพันเรียนรู้กันและกันต่อไป โรงเรียนของข้าพเจ้ายินดีต้อนรับหากคณะจากมูลนิธิฯและเครือข่ายจะไปเยี่ยมเยือน” 

ด้านท่านนางบัวทอง  ตันแสนสี รองหัวหน้าแผนกศึกษาธิการ และ กีฬา แขวงหลวงพะบาง กล่าวว่า “ขอขอบใจในมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีที่ได้สนับสนุนโครงการศึกษาดูงานในครั้งนี้ ทำให้ครูของนครหลวงพระบาง ได้มีโอกาสเรียนรู้และมีประสบการณ์ในหลายด้านจากสิ่งที่ได้ดูงาน ซึ่งในฐานะผู้ดูแลด้านการศึกษาที่นครหลวงพระบาง จะนำสิ่งที่ได้กลับไปรายงานทางกระทรวงศึกษาธิการ และกีฬา สปป.ลาว และคงได้หารือกับคณะผู้บริหารและคณะครูที่มาร่วมดูงาน และทบทวนสิ่งที่เราทำอยู่ว่าเราจะสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาต่อยอดพัฒนาการศึกษาของเราให้สอดคล้องกับบริบทของหลวงพระบางได้อย่างไร และขอบใจในความพัวพันและการดูแลอย่างยิ่งครั้งนี้อีกครั้ง” 

 นอกจากสิ่งที่กล่าวนี้ คณะครูจากนครหลวงพระบาง สปป.ลาว และเครือข่ายครูไทย และนักวิจัยในพื้นที่น่าน-แพร่ ยังได้ร่วมกันสะท้อนถึงประสบการณ์และความประทับใจที่ได้พบปะกัน ถือเป็นโอกาสที่จะเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้สร้างความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างเครือข่ายครูสปป.ลาว และเครือข่ายครูไทย เครือข่ายนักวิจัย และนักพัฒนาในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนครหลวงพระบางมายังจังหวัดน่านใช้เวลาเดินทางระหว่างกันไม่ไกลที่ทำให้ต่างก็จะกลับไปคิดโจทย์ต่อว่าจะต่อยอดความสัมพันธ์เพื่อสร้างการเรียนรู้ต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ต่อผู้เรียนและชุมชนต่อไป 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง