แง่คิดการพัฒนาโรงเรียนบนฐานผลการวิจัย นัยกับการพัฒนาครู


วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ –๐๙.๔๐ น. ณ ห้องโลตัส สวีท ๑ –๔ ชั้น ๒๒ ได้จัดให้มีการ
ปาฐกถาพิเศษ ๓ ในหัวข้อ  “Learning: How Teachers Help Students Become Better Learners” โดยศาสตราจารย์ฮวน มิเกล ลูซ (Prof. Juan Miguel Luz)  ประธานองค์กรออกแบบคุณภาพการศึกษา (Quality Education Design) และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศฟิลิปปินส์ ได้ถอดสาระสำคัญจากงานวิจัยจากรายงานของธนาคารโลกมุ่งสนใจศึกษาการเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียนที่ว่า  “นักเรียนมาโรงเรียนเพื่ออะไร แล้วนักเรียนได้เรียนรู้อะไร” และสิ่งที่ต้องตระหนัก คือ จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้และกระบวนการให้ความรู้แก่นักเรียน ดังนั้น แม้ว่าครูจะมีความสำคัญในการทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือผู้เรียน และความสำเร็จในการเรียนรู้วัดจากความสำเร็จของนักเรียน ในกระบวนการเรียนรู้เราอาจให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ

ผลการวิจัยได้ชี้ถึงประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับการเรียนรู้ ๔ ประเด็นหลัก ได้แก่

  • ผู้เรียนไม่มีความพร้อมในการเรียนรู้ ซึ่งส่งผลต่อการศึกษาเรียนรู้ในชั้นเรียน ปัญหาหลักๆ ที่พบเช่น การเดินทางจากบ้านมาโรงเรียนมีระยะทางไกล ความพร้อมของสุขภาพร่างกาย และการขาดแคลนอาหารของเด็กนักเรียน ความสนับสนุนจากผู้ปกครอง และความสามารถในการอ่านออกและเขียนได้ของนักเรียนที่จะส่งผลต่อการเรียนรู้ในเรื่องอื่นๆ 
  • ครูผู้สอนไม่มีทักษะและความตั้งใจ โดยครูมีความสำคัญมากต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ผลวิจัยของสหรัฐอเมริกาพบว่าครูที่ดีจะสามารถสอนให้เด็กเรียนรู้ได้มากกว่าในหลักสูตรการศึกษาหนึ่งถึงสองเท่า แต่หากครูขาดทักษะในการสอนแล้ว ผลการเรียนรู้ของนักเรียนจะลดลงประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของมาตรฐานการศึกษา นอกจากนี้ ผลการวิจัยพบว่ายช่วงเวลาที่ครูใช้เวลาในการสอนไม่ครบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ตามที่ควรจะเป็น
  • โรงเรียนให้การสนับสนุนไม่สอดคล้องกับทิศทางเดียวกับวัตถุประสงค์ในการสอนและการเรียนรู้ ส่งผลให้ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ตัวอย่างเช่น มีหนังสือเรียนแต่ไม่ได้ถูกเก็บไว้ในห้องเรียน มีสารเคมีแต่ไม่ถูกนำมาใช้ในห้องปฏิบัติการ มีคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ถูกนำมาใช้หรือไม่มีการสอนครูให้ใช้งานสำหรับนำมาใช้ในการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน ดังนั้นโรงเรียนควรจะพิจารณาความเหมาะสมในการใช้งาน
  • การบริหารจัดการโรงเรียนไม่ไปในทิศทางเดียวกับวัตถุประสงค์ในการสอนและการเรียนรู้ บางครั้ง ผู้บริหารโรงเรียนสนใจเฉพาะมาตรฐานตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด แต่ไม่ได้ให้ความสนใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนและกระบวนการจัดการบริหารของโรงเรียน จึงให้ความสำคัญกับการให้ครูทำเอกสารมากกว่าการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน และการประเมินผลงานใช้เกณฑ์ตัดสินที่ผลงานของครู มากกว่าผลการเรียนรู้ของนักเรียน

 

การประเมินผล (Assessment) เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ ซึ่งต้องมีเป้าหมายชัดเจนและมีวิธีการประเมินที่เหมาะสมเพื่อให้เห็นพัฒนาการการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นของเด็ก 

ศาสตราจารย์ฮวน ได้ข้อแนะนำสำหรับครูและการพัฒนาโรงเรียนจากบทเรียนของธนาคารโลก (พ.ศ.๒๕๖๑) ที่ว่า 

  1. การวัดและการหาช่องว่าง (Gap) ในการเรียนรู้ของเด็ก รวมทั้งหาสาเหตุ และวิธีการเพื่อทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ และเพิ่มความสามารถและทักษะให้กับเด็ก 
  2. ครูควรติดตามพัฒนาการของนักเรียนทั้งในระดับชั้น และเป็นรายบุคคล โดยอาจจะติดตามเป็นรายปี หรืออาจจะติดตามเป็นภาคการศึกษา เพื่อดูว่านักเรียนแต่ละคนมีผลการเรียนรู้อย่างไร นักเรียนคนใดมีความเสี่ยงที่จะเรียนรู้ได้ลดลง และหาสาเหตุเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กต่อไป
  3. ทดสอบการเรียนรู้ของนักเรียนให้เป็นเรื่องปกติเสมอ 
  4. การประเมินผลการเรียนรู้โดยเท่าเทียม ทั้งนี้ การเลือกประเมินเพียงรูปแบบเดียวอาจจะไม่สามารถบอกภาพรวมได้ทั้งหมด ดังนั้น ควรเลือกใช้การประเมินที่มีความหลากหลาย สำหรับเด็กที่มีความแตกต่างกัน
  5. การออกแบบหลักสูตรที่ดีอาจจะไม่เพียงพอ แต่ควรมีการอำนวยความสะดวกเพื่อช่วยให้นักเรียนสามารถลงมือปฏิบัติได้ด้วย เช่น การทำโครงงาน การนำเสนอผลงาน เป็นต้น
  6. สร้างตัวชี้วัดทำให้สามารถนำไปพัฒนาปรังปรุงแก้ไขข้อบกพร่องได้ โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากศูนย์ แต่สามารถเรียนรู้จากแนวทางปฏิบัติที่ดีของคนอื่นหรือประเทศอื่น 

ท้ายที่สุดสิ่งสำคัญที่จะละไว้ไม่ได้คือ ครูที่มีหัวใจของการเป็นครูที่มิใช่เพียงการพัฒนาผู้เรียนในประสบความสำเร็จด้านการเรียนรู้ แต่ต้องพาผู้เรียนไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี และแรงบันดาลใจในชีวิต

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง