มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประชุมทางไกล ผ่านระบบ Zoom meeting ร่วมกับ คณะกรรมการคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ระดับจังหวัด 4 ภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง ระหว่างวันที่ 31 ส.ค. 2563 และ 1 ก.ย. 2563 ที่มีผู้ว่าราชการระดับจังหวัดเป็นประธาน

การประชุมดังกล่าวเป็นการเตรียมการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศเพื่อคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ประจำปี 2564

ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กรรมการและผู้จัดการ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้กล่าวชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มีความเป็นมา เนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในปี 2558 สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดตั้งรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อเสริมสร้างการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในระดับต่าง ๆ มาโดยตลอด โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่นห่างไกลทั่วประเทศ

พระองค์ทรงเปี่ยมด้วยคุณลักษณะสำคัญของความเป็นครู 4 ประการ ได้แก่ ความรอบรู้ การสอนดี ความมีจริยธรรม และมุ่งมั่นพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้จัดตั้ง มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เพื่อเป็นองค์กรหลักในการวางแผนดำเนินการและพิจารณารางวัลโดยมี สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานกิตติมศักดิ์ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธานกรรมการมูลนิธิฯ และรองประธานกรรมการมูลนิธิฯ ประกอบด้วย รศ.ดร.คุณหญิง สุมณฑา พรหมบุญ และประธานกรรมการคุรุสภา ส่วนคณะกรรมการมูลนิธิฯ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาและสังคมจำนวนหนึ่ง กรรมการโดยตำแหน่งได้แก่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ มีเลขาธิการคุรุสภาเป็นเลขาธิการมูลนิธิฯ

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้มีผลงานดีเด่น และสร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวม 11 ประเทศ ประกอบด้วย บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย ไทย และติมอร์-เลสเต ประเทศละ 1 คน รวม 11 รางวัล ซึ่งจะดำเนินการคัดเลือกทุก 2 ปี โดยคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจะเสนอกรอบความคิดและคุณลักษณะเฉพาะของครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีไปยังกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 11 ประเทศ ส่วนกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกและกลไกให้ขึ้นกับดุลพินิจของแต่ละประเทศ

สำหรับการสรรหาและการคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในประเทศไทย คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีสรรหา และคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัดซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการกรุงเทพมหานคร ซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชุดหนึ่ง และปลัดกระทรวงศึกษาธิการชุดหนึ่ง มีบทบาทและทำหน้าที่ดำเนินงานคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในระดับจังหวัดตามที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์ เพื่อสามารถดำเนินงานตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในปฏิทินการคัดเลือก

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครู นักศึกษาครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และกรรมการวิชาการ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ชี้แจงถึงรายละเอียด ขั้นตอน กิจกรรม ระยะเวลาในการดำเนินงานคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ประจำปี 2564 ว่า มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้จัดให้มีการคัดเลือกครูที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ และมีคุณูปการต่อการศึกษา เพื่อรับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด และคณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลางเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินงานให้บรรลุผล บทบาทสำคัญของคณะกรรมการทั้งสองคณะนั้น คือการคัดเลือกครูที่มีความโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ และสร้างคุณูปการต่อการศึกษา เพื่อรับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

ส่วนการเสนอชื่อครูเข้ารับการคัดเลือก และการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ไม่ใช้วิธีการเปิดรับสมัคร แต่เป็นการเปิดโอกาสให้องค์กรและบุคคล สรรหาครูและเสนอชื่อครูเข้ารับการคัดเลือก โดยกำหนดคุณสมบัติของครูได้รับการเสนอชื่อ ต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและคุณสมบัติเฉพาะตามที่กำหนดไว้ คือ เป็นผู้มีสัญชาติไทย มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และปฏิบัติงานสอนหรืองานด้านการศึกษาจนถึงวันรับพระราชทานรางวัล

ครูที่ได้รับการเสนอชื่อ ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ เป็นหรือเคยเป็นครูผู้สอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานศึกษาของรัฐ เอกชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปฏิบัติงานสอนอย่างต่อเนื่องมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี และปัจจุบันยังคงปฏิบัติงานด้านการศึกษา ซึ่งจะเป็นการสอนหรืองานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาก็ได้ หรือเป็นครูนอกสถานศึกษา คือไม่ได้เป็นบุคลากรในสังกัดสถานศึกษาของรัฐ เอกชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่สอนผู้เรียนในวัยการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีอายุระหว่าง 3-18 ปี อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี และปัจจุบันยังคงปฏิบัติงานด้านการศึกษา ซึ่งจะเป็นงานการสอนหรืองานอื่นที่เกี่ยวกับการศึกษาก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เป็นผู้ประกอบอาชีพครูสอนพิเศษเป็นอาชีพหลัก

คุณสมบัติเฉพาะของครูผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับลูกศิษย์เจริญก้าวหน้าสู่ความสำเร็จในชีวิต มีความอุตสาหะในการทำภารกิจความเป็นครูมาโดยตลอดด้วยจิตวิญญาณความเป็นครูจนมีลูกศิษย์ที่ประสบความสำเร็จในหลากหลายแวดวงอาชีพกล่าวยกย่องถึงคุณความดี และเป็นผู้มีคุณูปการต่อการศึกษา เป็นแบบอย่างทั้งทางจริยธรรมและการทำงานที่ทุ่มเทกับการสอนหรือการจัดการเรียนรู้ การค้นคว้าพัฒนาการสอนหรือการเรียนรู้ จนมีความแตกฉานทั้งในเนื้อหาและการจัดกระบวนการเรียนรู้ในส่วนที่รับผิดชอบ

ในการสรรหาครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้เปิดโอกาสให้องค์กรและบุคคลเป็นผู้สรรหาและเสนอชื่อครู ประกอบด้วย องค์กรภาครัฐและภาคเอกชนที่มีการคัดเลือกในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประเทศ สถานศึกษาขั้นพื้นฐานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สมาคม มูลนิธิ และองค์กรซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีภารกิจส่งเสริมการเรียนรู้ และลูกศิษย์ที่เป็นศิษย์เก่าอายุไม่น้อยกว่า 25 ปี

ส่วนการคัดเลือกมี 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การคัดเลือกระดับจังหวัด โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด ขั้นตอนที่ 2 การคัดเลือกที่ส่วนกลาง โดยมีคณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง พิจารณาให้ความเห็นชอบรายชื่อที่คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัดและองค์กรเสนอมา พิจารณาคัดเลือกให้เหลือจำนวนไม่เกิน 20 คน และขั้นตอนที่ 3 การพิจารณาตัดสิน โดยคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นผู้พิจารณาตัดสินครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จำนวน 1 คน จากรายชื่อที่เสนอโดยคณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง การพิจารณาคัดเลือกของคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีถือเป็นที่สุด แต่ทุกขั้นตอนต้องรับฟังข้อทักท้วงเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและแสดงความโปร่งใส

ในการคัดเลือกครั้งนี้นอกจากมีรางวัลสูงสุด คือ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีแล้วยังมีรางวัลคุณากร รางวัลครูยิ่งคุณ และรางวัลครูขวัญศิษย์ รวม 4 รางวัล ครูผู้มีคะแนนสูงสุดจากการตัดสินของคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จะได้รับ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประกอบด้วย เหรียญทองรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เข็มเชิดชูเกียรติทองคำพระราชทาน โล่ประกาศเกียรติคุณ และรางวัลจำนวน 10,000 เหรียญสหรัฐ ครูผู้มีคะแนนลำดับที่ 2 และลำดับที่ 3 จากตัดสินของคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจะได้รับ รางวัลคุณากร ประกอบด้วย เหรียญเงินมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เข็มเชิดชูเกียรติพระราชทานและเกียรติบัตร

ครูผู้มีคะแนนลำดับที่ 4 ถึงลำดับที่ 20 จากการตัดสินของคณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลางจะได้รับ รางวัลครูยิ่งคุณ ประกอบด้วย เหรียญทองแดงมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เข็มเชิดชูเกียรติพระราชทานและเกียรติบัตร และครูผู้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัดและองค์กรที่มีรางวัลตามเกณฑ์ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง จะได้รับ รางวัลครูขวัญศิษย์ ประกอบด้วย เข็มเชิดชูเกียรติพระราชทานและเกียรติบัตร และในวันที่ 29 ตุลาคม 2564 จะมีพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ประจำปี 2564


ประชาชนทั่วไป ขอเชิญมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อครูแบบออนไลน์ โดยระบบจะส่งประวัติครู ไปยังคณะกรรมการจังหวัดที่ครูท่านนั้นอยู่ เพื่อเป็นเบาะแสในการสรรหาครู ที่นี่ >>

ข่าว-ภาพ: สยามสิน วลิตวรางค์กูร