สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา “ปวงชนเพื่อการศึกษา”

 

ที่มา: กรมประชาสัมพันธ์

กรมสมเด็จพระเทพฯ มีพระราชดำรัส “เห็นความสำคัญของการพัฒนาเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของไทย ให้เข้าใกล้ความเสมอภาคเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง” | ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ “ปวงชนเพื่อการศึกษา” ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยมีการถ่ายทอดผ่านระบบออนไลน์ข้ามประเทศครั้งแรกของโลก

วันนี้ (10 ก.ค. 2563) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยังโรงแรม สยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ ทรงเป็นประธานการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา “ปวงชนเพื่อการศึกษา” ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ โดยมี 60 นักคิด นักปฏิรูป และนักการศึกษาที่มีอิทธิพลต่อโลกตลอด 50 ปีที่ผ่านมาเข้าร่วมแลกเปลี่ยน ระหว่างวันที่ 10-11 ก.ค. 2563

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปาฐกถาพิเศษภายใต้หัวข้อ “4 ทศวรรษ การทรงงานด้านการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส” โดยมีพระราชดำรัสส่งเสริมความเสมอภาคด้านการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเด็กและเยาวชนพระองค์ทรงเริ่มต้นปาฐกถาพิเศษ โดยมีพระราชดำรัสอธิบายถึงแนวคิดเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา ว่าฝังรากหยั่งลึกอยู่ในสังคมไทยมานานร่วมกว่า 100 ปีแล้ว นับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีพระราชดำริต้องการให้ราษฎรทุกคน มีความรู้ สามารถอ่านออกเขียนได้ ทำให้ประเทศไทยมีโรงเรียนและสถาบันการศึกษาสำหรับประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเล่าเรียน กระทั่งในที่สุดก็ได้มีการบัญญัติกฎหมายออกมาเป็นการศึกษาภาคบังคับ ก่อตั้งกระทรวงศึกษาธิการขึ้นมาดูแล

สำหรับในส่วนของพระองค์ก็คือการสืบทอดสานต่อพระราชปณิธานจากพระมหากษัตริย์ในรัชกาลก่อน และจากสมเด็จย่า พระราชบิดาและพระราชมารดาของพระองค์ ที่ได้ทรงริเริ่มดำเนินการโครงการในพระราชดำริต่างๆ ทางการศึกษา โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้ประชาชนบนแผ่นดินไทยทุกคน ได้มีความรู้ความสามารถในการประกอบกิจการงานอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต หาเลี้ยงดูครอบครัวและพึ่งพาตนเองต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีบทบบัญญัติทางกฎหมายกำหนดให้เด็กไทยทุกคนได้เรียนหนังสือ แต่ก็ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสได้ไปโรงเรียน เนื่องด้วยข้อจำกัดทางครอบครัว หรือ ข้อจำกัดทางสภาพร่างกายของตนเอง ส่งผลให้พระองค์เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของไทย เพื่อให้ขยายครอบคลุมเข้าถึงทุกกลุ่มได้มากขึ้น ให้การศึกษาเข้าใกล้ความเสมอภาคเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ได้ทรงงานด้านการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนไทย ทรงเริ่มต้นจากสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงดำเนินการไว้ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนกินนอนประจำในพระบรมราชูปถัมภ์ และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งในตอนแรกสุดนั้น ก็เพื่อให้การอบรมสั่งสอนบรรดาเด็กๆ ในพื้นที่ชนบทห่างไกล และถิ่นทุรกันดาร ให้มีวิชาความรู้ติดตัว

แน่นอนว่า นอกจากการเรียนการสอนด้านวิชาการพื้นฐาน เพื่อให้เด็กเหล่านี้อ่านออกเขียนได้แล้ว ยังทรงมีพระราชดำริในการวางแนวทางให้เด็กเหล่านี้ได้มีวิชาชีพความรู้ติดตัว ดังนั้นการเรียนการสอน จึงครอบคลุมถึงวิชาการเกษตร การจัดทำบัญชี การบริหารสหกรณ์ การค้าขาย ไปจนถึงการตัดผม ช่างเครื่อง ช่างซ่อม อีกทั้งยังใช้โรงเรียนเป็นแหล่งให้ความรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่ดี เช่น การอนามัยและสุขศึกษา

นอกเหนือจากเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาสแล้ว ทรงมองเห็นว่า เด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่มักถูกละเลยก็คือเด็กพิการและทุพพลภาพ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย หรือ ทางจิตใจ ที่มักถูกมองว่าเป็นผู้ไร้ประโยชน์ แต่ในความเห็นของพระองค์ กลับมองเห็นว่า การศึกษาจะกลายเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เด็กพิการเหล่านี้ เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของสังคม ดังนั้น จึงทรงก่อตั้งโรงเรียนพิเศษสำหรับผู้พิการโดยเฉพาะขึ้น เพื่อให้ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนได้อย่างเหมาะสมตามศักยภาพและกายภาพของตนเอง โดยมีให้เลือกเรียนในสายสามัญ และสายวีชาชีพ พร้อมจัดหาทุนการศึกษา และแนะแนวทางการประกอบวิชาชีพในอนาคต

ขณะเดียวกัน ก็ทรงสืบสานโรงเรียนพระดาบส และโรงเรียนลูกพระดาบส ในการรับเด็กโตอายุระหว่าง 15-25 ปี ความประพฤติดี ขยันหมั่นเพียร และมีความตั้งใจ เข้ารับการฝึกอบรมทักษะวิชาช่างแขนงต่าง ๆ ให้เข้ารับการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูหรือผู้ชำนาญการในวัยเกษียณที่อาสามาสอนให้ความรู้บ่มเพาะให้เด็กกลุ่มนี้ ที่แทบทั้งหมดมีอุปสรรคติดขัดไม่สามารถเรียนหนังสือตามหลักสูตรทั่วไปได้ ทำให้พวกเขาได้มีวิชาความรู้ติดตัวหาเลี้ยงชีพ และสามารถต่อยอดไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในระดับที่สูงต่อไปได้

ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์ยังทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาระดับสูงในสายอาชีวะศึกษา ซึ่งมีความหลากหลายให้เลือก และเปิดรับบุคคลได้ค่อนข้างกว้างกว่า ด้วยเงื่อนไขที่ไม่ซับซ้อน โดยหมายรวมถึง บุคคลไร้สัญชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มแรงงานอพยพ หรือแรงงานข้ามชาติ

นอกจากนี้ ก็ไม่ทรงละเลย กลุ่มสามเณรที่บวชเรียน โดยได้ทรงก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม ให้สามเณรเหล่านี้ได้เรียนหนังสือตามหลักสูตรการศึกษาทั่วไป เพื่อเป็นทางเลือกหลังต้องสึกจากสมณะเพศออกมา จะได้มีวุฒิความรู้การศึกษาติดตัว มีทางเลือกต่อยอดไปทางอื่น ๆ ต่อไปได้

ในส่วนของกลุ่มผู้ต้องขัง ก็ต้องให้ความใส่ใจเช่นกัน โดยทรงจัดทำห้องสมุดในเรือนจำ และจัดทำกิจกรรมเสริมทักษะวิชาชีพแก่ผู้ต้องขัง เพื่อให้ผู้ที่พลาดพลั้งเหล่านี้ ได้มีโอกาสใหม่ในการเริ่มต้นชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมหลังพ้นโทษ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมไทยโดยรวมต่อไป

ขณะที่กลุ่มเด็กหญิง เด็กจากผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์ หรือเด็กไร้สัญชาติ ก็ได้รับความช่วยเหลือในด้านการศึกษาเช่นกันภายใต้โครงการของพระองค์ อีกทั้งยังมีบรรดาเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ที่ทรงให้ความสำคัญ เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่าการปลูกฝังบ่มเพาะทางการศึกษา ควรเริ่มทำตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้ทรงก่อตั้งสถานดูแลเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลไว้ตามเครือข่ายโรงเรียนในโครงการส่วนพระองค์

ในความเห็นส่วนพระองค์ All for Education ก็คือการศึกษาสำหรับคนทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น เชื้อชาติอย่างแท้จริง ที่คนทุกคนต้องได้เรียนหนังสือสอดคล้องเหมาะสมตามกำลังศักยภาพและความสามารถของผู้เรียน อีกทั้ง โรงเรียนและสถาบันการศึกษาที่ทรงก่อตั้งขึ้นไม่ใช่เพียงแค่สถานที่ประสิทธิประศาสตร์วิชา แต่เป็นสถานที่ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ให้มีทักษะและภูมิปัญญา ดังนั้น โรงเรียนของพระองค์ จึงสอดแทรกการสอนเรื่องของสุขอนามัย การล้างมือ การทำความสะอาดร่างกาย การดูแลฟัน การดูแลโภชนาการ การจัดทำอาหารกลางวัน การสอนปลูกผักเลี้ยงสัตว์เพื่อนำไปประกอบอาหาร และผลิตผลที่เหลือก็นำไปขายหารายได้จุนเจือตนเองและโรงเรียนให้สามารถดำเนินการต่อไปได้

ทั้งนี้ ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดอุปสรรคและความท้าทายต่าง ๆ มากมาย หนึ่งในนั้นก็คือการหาแนวทางให้การเรียนการสอนยังคงดำเนินต่อไปได้ ซึ่งในการทำงานของพระองค์ ทรงได้จัดหาเงินทุนเป็นค่าใช้จ่ายให้บรรดาครูอาจารย์สามารถเดินทางไปเยี่ยมเยียนลูกศิษย์ติดตามความก้าวหน้า ทรงจัดหาโทรทัศน์เพื่อให้รับสัญญาณถ่ายทอดบทเรียนต่าง ๆ จัดหายานพาหนะ อุปกรณ์ อาหาร และวัตถุดิบ เพื่อการดำรงชีพ รวมถึงการจัดถุงยังชีพที่บรรจุเมล็ดพันธุ์และหนังสือคู่มือการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์และการปฎิบัติตัวเพื่อป้องกัน COVID-19 ซึ่งทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและครอบครัวดำรงชีวิตต่อไปได้ภายใต้สภาวะที่ยากลำบาก ขณะเดียวกัน ก็ยังตระหนักและเห็นความสำคัญของการศึกษา การเป็นผู้มีวิชาความรู้ติดตัว

โครงการการศึกษาและก่อตั้งโรงเรียนทั้งหมดเหล่านี้ ทรงได้รับความร่วมมือช่วยเหลืออย่างดีจากหลายหน่วยงาน ทั้งทางภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรอิสระทั้งหลาย พระองค์ปิดท้ายปาฐกถาพิเศษด้วยการพระราชทานคำมั่นที่จะทรงงานภายใต้เป้าหมาย “การศึกษาเพื่อปวงชน และปวงชนเพื่อการศึกษา” ให้ทุกฝ่ายหันมาร่วมมือร่วมใจสร้างโลกที่อ่านออกเขียนได้ (Let’s join in making a literate world) ตามปณิธานที่ทรงตั้งไว้เมื่อปี 2542

เนื้อหาข่าว: The Active Thai Broadcasting Service