ครูอาเซียนเวียดนาม-ลาวร่วมเสวนาประสบการณ์จากการปฏิบัติ : “เปิด ปรับ เปลี่ยน” หลังโควิด

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีได้จัดให้มีการเสวนาความเคลื่อนไหวทางการศึกษาและการจัดการเรียนรู้จากครูอาเซียนและติมอร์-เลสเต : ประสบการณ์จากการปฏิบัติงานในช่วงสถานการณ์วิกฤต ครั้งที่ 1 ขึ้น โดยมีครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจากประเทศเวียดนาม ได้แก่ ครูทราน ติ ตวย ดุง (Trần Thị Thuỳ Dung) รุ่นที่ 1 (2015) ครูฟานถิหนือ รุ่นที่ 2 (2017) และสปป.ลาว ได้แก่ครูคำซ้อย วงสัมพัน รุ่นที่ 1 (2015) ครูคูนวิไล เคนกิติสัก รุ่นที่ 2 (2017) ครูไพสะนิด ปันยาสะหวัด รุ่นที่ 3 (2019) เข้าร่วมนำเสนอความเคลื่อนไหว โดยมี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าประเทศไทย ได้แก่ ครูเฉลิมพร พงศ์ธระวรรณ PMCA รุ่นที่  1 (2015)  ครูจิรัฎฐ์ แจ่มสว่าง  PMCA รุ่นที่ 2 (2017) ครูสุเทพ เท่งประกิจ PMCA รุ่นที่ 3 (2019) พร้อมด้วยคณะทำงานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สถาบันรามจิตติ  มีนายสุรชัย ดิ่งสวัสดิ์ ผู้ประสานพื้นที่ในประเทศเวียดนามเป็นล่ามแปลภาษาเวียดนาม และเครือข่ายครูในมูลนิธิฯ เข้าร่วมประชุมออนไลน์กว่า 30 ท่าน โดยมีดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ สถาบันรามจิตติ ร่วมสรุปประเด็น

ในการนี้ครูแต่ละท่านได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ของตนเองซึ่งมีจุดเด่นและประเด็นร่วมที่น่าสนใจ ในภาพรวมการจัดการของทั้งสองประเทศนั้นจะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ สรุปได้ว่า

  • การจัดการโดยรวม ทั้งสองประเทศให้ความสนใจกับการเตรียมความพร้อมและการจัดการในภาพรวมของโรงเรียน ทั้งเรื่องมาตรการเฝ้าระวัง การตรวจอุณหภูมิ หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ แอลกออฮอล มีการจำกัดทางเข้า-ออก โดยดำเนินงานตามนโยบายของรัฐ มีมาตรการปฏิบัติตามสถานการณ์และพื้นที่เป็นระยะ ๆ เน้นเรื่องสาธารณสุขเป็นหลัก โดยในระยะเปิดโรงเรียนในสัปดาห์ที่ 1- 2 จะมีมาตรการดูแลความสะอาดปลอดภัยป้อง เช่น จำกัดประตูทางเข้า-ออก การดูแลสุขภาพอนามัย วัดอุณหภูมิทุกวัน มีเครื่องล้างมืออัตโนมัติ นักเรียนใส่แมสทุกช่วงเวลา กรณีประเทศเวียดนาม ครูทราน ติ ตวย ดุง ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีรุ่นที่ 1 (2015) ปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการ สำนักงานศึกษาธิการ จังหวัดหล่าวกาย ดูแลพื้นที่ตอนเหนือของประเทศเวียดนามซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศจีนมีโรงเรียน 71 แห่งในการดูแล เล่าว่า นโยบายสำคัญในพื้นที่ตามแนวนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ คือ “เมื่อถึงโรงเรียนจะปลอดภัย ..ปลอดภัยเพื่อต้อนรับ ทุกคนมาโรงเรียน”  วางแนวทางการทำงานเป็นระยะ โดยสัปดาห์ 1 เน้นการเว้นระยะห่างและการจัดการเรื่องสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ สัปดาห์ที่ 2 จัดการเรียนรู้ที่ผสามผสานการเรียนออนไลน์ สัปดาห์ที่ 3 ปรับการเรียนรการสอนเข้าสู่การเรียนรู้ในห้องเรียนตามปกติ (Onsite) ซึ่งในพื้นที่ในภูมิภาคอื่นๆ ทั้งในเมืองดานังและเมืองฮาวยางก็ใช้หลักการเดียวกันนี้ ขณะที่สปป.ลาว ก็เน้น “ความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจในการมาโรงเรียน” โดยดำเนินมาตรการ “เว้นระยะห่าง” และ  “ลดขนาดจำนวนนักเรียน” ตามแนวปฏิบัติของรัฐ

  • ด้านการจัดการเรียนการสอน ทั้งสองประเทศดำเนินงานจัดหลักสูตรตามนโยบาย และยืดหยุ่นในการจัดการระดับเขตและพื้นที่

จุดเน้นของ เวียดนาม คือการจัดการเรียนการสอนตามนโยบาย “ลดโหลด” ซึ่งจะมีการลดในเนื้อหาและเวลาของการจัดหลักสูตรการเรียนรู้ ซึ่งจะเน้นในวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ มุ่งเน้นเนื้อหาเฉพาะที่จำเป็น เพื่อให้สามารถจบทันหลักสูตร ซึ่งมีผลต่อการเลื่อนชั้นและการเรียนต่อระดับสูงของนักเรียน และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ปกครองว่า บุตรหลานจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเริ่มเปิดการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายก่อน โดยช่วง 2 สัปดาห์แรกจะเป็นการเตรียมความพร้อมทบทวนบทเรียน ส่วนการลดเวลาเรียนนั้น ในระดับเน้นการลดเวลาในการทบทวนและจัดการสอนแบบเผชิญหน้าในชั้นอนุบาลและประถม ซึ่งระดับประถมมีการแนะนำให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองและมีสื่อการเรียนรู้  สัปดาห์ที่ 3 จะเริ่มสอนในหลักสูตรที่ปรับลดลงเพื่อให้จบหลักสูตรเทอมปลายในเดือนมิถุนายน ในส่วนนักเรียนม.ปลาย จะมีหลักสูตรพิเศษเพราะนักเรียนจะต้องเรียนต่อในระดับมหาลัย ขณะเดียวกันเน้นการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง

ในพื้นที่ของ ครูทราน ติ ตวย ดุง PMCA 2015 ยังเน้นส่งเสริมการเรียนรู้ในพื้นที่ชายแดนในเรื่องรู้โลก (โรค) รู้เพื่อนบ้านรู้ตัวเรา และการจัดทำตำราเรียนในหลักสูตรท้องถิ่นในระดับประถม นอกจากนี้ยังเน้นการติดตามดูแลนักเรียนห่างไกลด้อยโอกาส และมีกิจกรรมต่อเนื่องของแต่ละโรงเรียน มีการสอนออนไลน์เพื่อให้จบการศึกษา ส่วนพื้นที่ครูฟาน ถิ หนือ ได้ให้ความสำคัญกับช่วงวัยเด็กเล็กและประถมในการดูแลเรื่องการเรียนรู้ แต่ขณะเดียวกันสำหรับนักเรียนม.ปลาย จะมีหลักสูตรพิเศษเพราะนักเรียนจะต้องเรียนต่อในระดับมหาลัย ในการจัดการชั้นเรียนมีการ “ลดเนื้อ” ตามแนวนโยบาย โดยครูหนือเองได้เน้นให้นักเรียนได้ทบทวนและฝึกฝนในทักษะสำคัญ เช่น การสื่อสารภาษาอังกฤษ ทักษะการค้นคว้าด้วยตนเอง และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียน ส่วนในชั้นเรียนนั้นจะยืดหยุ่นการจัดการเรื่องของระยะและความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน เนื่องจากเวียดนามไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่เป็นเวลาเกือบสองเดือน และการจัดการในระยะที่ 3 (หลัง 1 เดือนที่เปิดโรงเรียนเป็นต้นไป) เช่น นักเรียนไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากาอนามัย สามารถเรียนรู้ได้ปกติ

ส่วนประเทศสปป.ลาว มีการให้โรงเรียนยืดหยุ่นในวิธีการสอนในหลักสูตรและวิธีสอนให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่เน้นการดูแลผู้เรียนเป็นพิเศษ สำหรับนักเรียนระดับอนุบาลและประถม  โดยจุดเน้นจะเป็นเรื่องการจัดการชั้นเรียน โดยการ “ลดขนาดชั้น” เพื่อให้ขนาดจำนวนเด็กในชั้นเรียนเล็กลง หลักการของขนาดชั้นเรียนใหม่หลังโควิด-19 คือ 30 คนต่อห้อง และเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่วนในรายวิชาต่างๆ แบ่งการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมตามหลักสูตรและสอดคล้องกับช่วงวัยของผู้เรียน

หลักการเว้นระยะห่าง
1) สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก มีจำนวนนักเรียนน้อย ให้จัดการเรียนการสอนปกติ ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ โดยรับประกันที่นั่งของนักเรียน  ให้มีระยะห่าง 1 เมตร ขึ้นไป ถ้าห้องเรียนใด มีจำนวนนักเรียน กว่า 30 คนขึ้นไป ให้แยกออกเป็น 2 หรือ หลายห้อง และจัดสอนอย่างเหมาะสม
2) สำหรับ โรงเรียนขนาดกลาง ที่มีจำนวนนักเรียนมากให้แต่ละชั้นเรียนผลัดเปลี่ยน วันเรียน เพื่อรับประกันที่นั่งเรียนของนักเรียน ให้มีระยะห่าง 1 เมตร ขึ้นไป ถ้าห้องเรียนใด มีจำนวนนักเรียน กว่า 30 คนขึ้นไป ให้แยกออกเป็น 2 หรือ หลายห้อง และจัดสอนอย่างเหมาะสม รายละเอียดดังนี้ประถมศึกษาปีที่ 1,4  มัธยมศึกษาปีที่ 1,3, 5  เข้าเรียน  ในวัน จันทร์  พุธ  ศุกร์

  • ประถมศึกษาปีที่ 2-3 มัธยมศึกษาปีที่ 2,6 เข้าเรียน ในวันอังคาร  พฤหัส  เสาร์
  • ประถมศึกษาปีที่ 5 มัธยมศึกษาปีที่ 4,7  เข้าเรียน   วันจันทร์ถึงวันศุกร์

-จัดเวลามาโรงเรียน  เลิกเล่น และเลิกเรียนของแต่ละชั้นเรียนให้แตกต่าง และห่างกัน 15 นาที

โดยครูคำซ้อย วงสัมพัน PMCA 2015 ที่ปรึกษาของโรงเรียนมัธยมสมบูรณ์นครหลวงเวียงจันทร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีจำนวนเด็กนักเรียนมาก ให้ความสำคัญกับการจำกัดขนาดชั้นเรียน โดยแบ่งชั้น และให้ผู้เรียนสลับวันมาเรียน เช่นเดียวกับครูไพสะนิด ปันยาสะหวัด PMCA  2019 โรงเรียนมัธยมสมบูรณ์สันติภาพนครหลวงพระบาง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนถึง 3,300 คน การแบ่งนักเรียนซึ่งจากเดิมปกติจะแบ่งให้มีการเรียนในรอบเช้าและบ่าย ปัจจุบันต้องแบ่งนักเรียนต่อห้องจากเดิมให้กลายเป็น 2 กลุ่ม ส่วนการแบ่งการเรียนรอบเช้าและบ่ายยังคงเหมือนเดิม และสลับวันมาเรียนตามแนวนโยบายของกระทรวงศึกษา ส่วนครูคุณวิไล เคนกิติสัก PMCA 2017 ซึ่งเป็นครูใหญ่ในโรงเรียนขนาดเล็กทองคัง นครหลวงเวียงจันท์ เล่าถึงการจัดการห้องเรียน ชั้นเรียน และการบริหารจัดการบุคลากรครูที่สอน เนื่องด้วยโรงเรียนเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เมื่อลดขนาดเด็กในชั้นเรียนแล้ว ทำให้ครูไม่พอสอนได้ทุกชั้น จึงให้ครูทุกคนช่วยกันสอนในทุกวัน แม้นักเรียนจะสลับชั้นมาเรียน ก็ให้จับคู่ครูช่วยกัน เช่น ครูป.1และป.2 ช่วยกัน (สำหรับเด็กกลุ่ม 1 เด็กกลุ่ม 2)  ครูป.3 และ ป.4 ช่วยกัน ครู ป.5 และ ป.6 ช่วยกันและครูใหญ่ได้สอนในระดับชั้น ป.5

ในรูปแบบของการจัดการเรียนการสอนนั้น ทั้งสองประเทศมีแนวทาง 1) การเรียนผ่านโทรทัศน์  (OnAir)  โดยมีกระทรวงศึกษาธิการช่วยสนับสนุนการจัดทำเผยแพร่ 2) การเรียนออนไลน์ (Online) ซึ่งมีเขตพื้นที่ช่วย และครูสามารถจะออกแบบสื่อเอง กิจกรรมได้เอง โดยผสมผสาน หรือตามเนื้อหาสำคัญ เช่น เวียดนาม  เน้นลดเนื้อหาที่ไม่จำเป็น ส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง 3) การสอนโดยครูตามสภาพจริง (Onsite) โดยการผสมผสานในหลายวิธี ซึ่งทั้งสองประเทศจัดตามหลักสูตรและยืดหยุ่นให้ครูสามารถออกแบบการจัดการเรียนการสอนตามสไตล์ของครูและธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้เรียน และยังเน้นการสอนที่เน้นการปฏิบัติให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทักษะสำคัญเท่าทันกับยุคโควิด โดยทั้งสองประเทศยังเน้นเตรียมให้กับนักเรียนในระดับมัธยมปลายให้พร้อมสำหรับการสอบจบการศึกษาตามระบบการศึกษาของแต่ละประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตามครูทุกท่านได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการสอนโดยผ่านออนไลน์ว่า มีข้อจำกัดอย่างมากเนื่องจากสภาพความไม่พร้อมของนักเรียนและครอบครัวในการเข้าถึงเทคโนโลยีออนไลน์ ทำให้การสอนผ่านออนไลน์จึงทำได้เพียงนักเรียนที่มีโอกาสเข้าถึง โดยส่วนใหญ่โครงสร้างพื้นฐานของทั้งสองประเทศ การสอนแบบผ่านโทรทัศน์และการสอนโดยครูจะสามารถทำงานได้มากกว่า และเชื่อว่า เมื่อเปิดโรงเรียนเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว การที่นักเรียนได้เรียนรู้จากครูและมีปฏิบัติร่วมกันจะสร้างการเรียนรู้ได้ดี

สำหรับประเทศไทย ครูเฉลิมพร พงศ์ธระวรรณ PMCA รุ่นที่  1 (2015)  และ ครูจิรัฎฐ์ แจ่มสว่าง  PMCA รุ่นที่ 2 (2017) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งสนใจเรื่องการเตรียมครูในการทำงานและการใช้สื่อเทคโนโลยีออนไลน์มาช่วยสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานกับการสอนโดยครูตามสภาพจริง และนอกจากนี้ครูทุกท่านที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยน เห็นว่าครูต้องทำงานเรื่องการมีระบบข้อมูลของนักเรียนรายบุคคลเพื่อให้รู้เงื่อนไขข้อจำกัดและความต้องการในการพัฒนาเพื่อจัดให้สอดคล้องและช่วยเหลือนักเรียนได้เต็มที่

 

สถาบันรามจิตติ รายงาน

ภาพประกอบ : ครูวิทยากรผู้นำเสนอ และppt โดยสถาบันรามจิตติ