มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ส่งเสริมศักยภาพเครือข่ายครูรางวัลนำความรู้สู่โรงเรียนก้าวทันเทคโนโลยี ปรับสาระการเรียนการสอนอาชีพและเทคโนโลยี

 


เมื่อวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2563 มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และสถาบันรามจิตติ นำเครือข่ายครูกลุ่มสาระอาชีพและเทคโนโลยี ศึกษาดูงานด้านอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล และเทคโนโลยี ณ อุทยานมิตรผลภูเขียว และหนองแซงโมเดล อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เพื่อออกแบบการเรียนการสอนอาชีพและเทคโนโลยีสำหรับนักเรียนนักศึกษา นำโดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และคณะเครือข่ายครูประกอบด้วย โรงเรียนบ้านโพธิ์ดอนหวาย บุรีรัมย์ โรงเรียนบ้านบ่อดิน บุรีรัมย์ โรงเรียนบ้านยายคำ บุรีรัมย์ โรงเรียนสารคามพิทยาคม โรงเรียนบ้านสะอาด (สะอาดวิทยาคาร) ร้อยเอ็ด โรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม ร้อยเอ็ด โรงเรียนจันทรุเบกษาอนุสรณ์ ร้อยเอ็ด วิทยาลัยการอาชีพโพนทอง ร้อยเอ็ด โรงเรียนบ้านหมากตูมดอนยานาง อุดรธานี วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี วิทยาลัยสารพัดช่างอุดรธานี สำนักงานศึกษาธิการภาค 10 อุดรธานี โรงเรียนพระพุทธบาทเทสรังสีวิทยา หนองคาย โรงเรียนท่านผู้หญิงจันทิมาพึ่งบารมี สกลนคร โรงเรียนบ้านนาแก สกลนคร

โรงเรียนบ้านจอหอ นครราชสีมา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา โรงเรียนเลยพิทยาคม โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ สุรินทร์ โรงเรียนบ้านเลิศอรุณ สุรินทร์ โรงเรียนบ้านโนน นิยมศาสตร์ศึกษา สุรินทร์ โรงเรียนหนองเรือวิทยา ขอนแก่น โรงเรียนบ้านโนนทอง ขอนแก่น โรงเรียนบ้านเขว้าวิทยายน ชัยภูมิ โรงเรียนภูเขียวชัยภูมิ

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทมิตรผลได้อธิบายถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมน้ำตาล กระบวนการผลิตน้ำตาล การพัฒนาชุมชนด้วยการส่งเสริมเกษตรกรปลูกอ้อยและการทำโมเดิร์นฟาร์ม เพื่อความยั่งยืน รวมถึงธุรกิจต่อเนื่องของบริษัท ได้แก่ ธุรกิจไฟฟ้า และธุรกิจเอทานอล การจ้างงานผู้พิการ พร้อมทั้งได้นำเครือข่ายครูเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ของเกษตรกร ในโครงการทำตามพ่อปลูกเพ(ร)าะสุข

ด้าน ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้กล่าวกับเครือข่ายครูเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มสมรรถนะทางอาชีพและการบริหารจัดการศึกษาด้วยว่า ในภาพใหญ่นั้นต้องการเห็นเครือข่ายครูที่มาดูงานได้คิดร่วมกันและคิดกันเป็นทีม เพราะถ้าคิดคนเดียวจะทำไม่ได้ เพราะครูจะมีงานประจำมาก จนไม่มีเวลาทำเรื่องใหม่ จึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีเวลาไปคิดเรื่องใหม่ จึงเสนอให้ครูนำไปคิดต่อว่าจะทำอะไรได้บ้าง แล้วมูลนิธิจะช่วยอะไรได้บ้าง รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องจะช่วยอะไรได้บ้าง เพราะการช่วยจะต้องใช้กำลังความคิด เทคโนโลยี และทุน หากจะให้เกิดความยั่งยืน ครูจะต้องสร้างทีมให้มาก นี่คือทักษะ

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

“ดร.กฤษณพงศ์ ชี้ให้เห็นการศึกษาในอนาคตว่าจะเกิดการเปลี่ยนโฉม โดยในอดีตนั้น เราคิดว่าคนที่มีการศึกษา ถ้าจบ ม.6 ปวช. ปวส. ปริญญาตรี จะนำไปสู่อาชีพ แต่จากสิบปีที่ผ่านมาพบว่า การศึกษาไม่นำไปสู่อาชีพ เพราะฉะนั้น ต่อไปเราต้องนำอาชีพมาเป็นตัวตั้ง เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เราจึงต้องถอยกลับมามองว่า ชีวิต อาชีพ นั้นคืออะไร ดังนั้นเราต้องมีเป้าหมายเดียวกันคือชีวิตและอาชีพที่ดีในอนาคต และการศึกษาเป็นตัวตาม ฉะนั้น การจัดการศึกษาในอนาคต จึงต้องถอยมามองที่เป้าหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น จึงต้องให้คนที่มองอนาคตไว้ มาช่วยออกแบบจัดการศึกษา เพราะเป็นสิ่งที่เราไม่รู้ แต่ถ้าเรารู้ว่าเราไม่รู้อะไร เราไปหาสิ่งที่เราไม่รู้ได้ แต่ที่น่าห่วงคือ เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้อะไร เราจึงทำไม่ถูก เราจึงต้องไปหาคนที่พอจะบอกเราได้ว่าเราไม่รู้อะไร”
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวอีกว่า เขาบอกว่าการศึกษาสร้างคนไปสู่ชีวิต แต่การฝึกไปสู่อาชีพหรือการงานนั้นต่างกัน และหน้าที่ของการศึกษาคือต้องสร้างคนไปสู่อนาคต ไปแก้ไขปัญหาที่ยังไม่เกิด ซึ่งจะต้องมีความสามารถอะไรที่จะไปแก้ปัญหาที่ยังไม่เกิดได้ ตอนนี้การศึกษาในระบบของเราสอนให้ตอบ แต่คนที่จะอยู่ได้จะต้องตั้งปัญหาเป็น ต้องตั้งปัญหาได้ถูกต้องก่อน เราต้องสอนให้คนตั้งปัญหาได้ ถ้าเราตั้งได้ เราจะพบได้ว่าปัญหามีคำตอบ ขณะที่ปัญหาที่เราเรียนในห้องเรียนมีปัญหาที่มีคำตอบเดียว ทำให้ปิดสมองหมดเลย นี่เป็นสิ่งที่เราพยายามสอนให้ตั้งปัญหา เพราะปัญหาทุกปัญหานั้นถูกหมดแต่แล้วแต่เงื่อนไข คือคำตอบถูกในเงื่อนไขหนึ่ง แต่ผิดในอีกเงื่อนไขหนึ่ง จึงแล้วแต่เป้าหมายนั้นคืออะไร เราจึงต้องถอยไปสู่เป้าหมายก่อนจึงจะได้คำตอบ ไม่ใช่เอาคำตอบก่อนไปสู่เป้าหมาย เท่ากับว่าเรามีคำตอบ แต่คำถามอยู่ที่ไหน จึงต้องเริ่มด้วยคำถามก่อน
ขณะที่ ครูนฤมล สาหล้า โรงเรียนบ้านโนนทอง จ.ขอนแก่น ครูที่ได้รับรางวัลครูขวัญศิษย์ ประจำปี 2562 จากมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวถึงการมาศึกษาดูงานที่โรงงานน้ำตาลครั้งนี้ ได้ตั้งความหวังไว้ว่าจะนำไปขยายผล โดยจะนำไปสอนเด็กในส่วนไหนที่เราได้รับความรู้ในเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นครั้งแรกในการมาดูงานที่โรงงานน้ำตาล ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องอ้อย การผลิต ไฟฟ้า โดยจะนำไปปรับในเรื่องของภาษาไทยให้เด็กได้เขียนในความรู้แต่ละเรื่องว่ามีความคิดอย่างไร สังเคราะห์ออกมาอย่างไรได้บ้าง ซึ่งเด็กการศึกษาพิเศษนั้น เรื่องการอ่านการเขียนจะไม่คล่อง แต่สามารถเอาคำหรือภาพไปสอนเด็กได้
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวต่อไปว่า นี่จึงเป็นวิธีที่จะสอนให้เด็กคิดตั้งคำถามให้ถูกต้องก่อนแล้วก็ไปหาคำตอบ เนื่องจากคำตอบที่เรามีอยู่ในห้องเรียนแค่ฝึกสมอง ให้เด็กทำการทดลองในเวลาสั้น ๆ ที่มีคำตอบในหนึ่งบ่ายหรือหนึ่งอาทิตย์ แต่โลกในความเป็นจริงต้องการคำตอบในห้านาที เพราะถ้าไปหาคำตอบในหนึ่งอาทิตย์ ปัญหาก็เปลี่ยนไปแล้ว เพราะโลกได้เปลี่ยนเร็วด้วยเทคโนโลยี จึงให้ครูคิดเป็นโจทย์ต่อลูกศิษย์โดยเร็วที่สุด โดยอาจสร้างการเรียนการสอนจากสิ่งที่มีคนทำอยู่แล้วโดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ จึงขอฝากครูเป็นแนวทางนำไปคิดต่อไป