ครูรางวัลคุณากรขยายผลการสร้างแรงบันดาลใจสานฝันครูปฐมวัยหัวใจรัก(ษ์)ถิ่น


วันที่ 8 ธันวาคม 2562  ณ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ครูปุณยาพร ผิวขำ ครูรางวัลคุณากร มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีปี 2562 เป็นวิทยากรสร้างแรงบันดาลใจในกิจกรรม
“ค่ายสานฝันฉันอยากเป็นครูปฐมวัยหัวใจรัก(ษ์)ถิ่น” ภาคอีสาน  โดยมี ดร.จักรพรรดิ วะทา คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมด้วย รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการ ดร.จิตติมา เจือไทย ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ ผศ.ดร.วรฉัตร วริวรรณ คณะวิจัยและประเมินโครงการ ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. ผู้สนับสนุนโครงการดังกล่าว พร้อมด้วยนักเรียนระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 ในพื้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 9 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ อุดรธานี เลย มุกดาหาร ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ สกลนคร และอุบลราชธานี จำนวน 51 คน เข้าร่วมโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น (รุ่นที่ 1)   

“ค่ายสานฝันฉันอยากเป็นครูปฐมวัยหัวใจรัก(ษ์)ถิ่น” เป็นกิจกรรมเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพ-แววความเป็นครู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคัดเลือกนักเรียนด้อยโอกาสที่อยากจะเป็นครูเข้าเรียนครูในสถาบันที่ผ่านการคัดเลือกเป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูตามโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น (รุ่นที่ 1) ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยความร่วมมือกับครูในเครือข่ายครูมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และสถาบันผลิตและพัฒนาครูกับโครงการในรุ่นที่ 1 ทั้ง 11 แห่ง ที่ครอบคลุมพื้นที่ 45 จังหวัดใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพี่อร่วมขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่อง

สำหรับโครงการ “ครูรักษ์ถิ่น” คือ โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน  มุ่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนครูในโรงเรียน (ขนาดเล็ก) ที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกล โดยจัดทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนที่มีภูมิลำเนาในท้องถิ่นนั้นๆ ได้เรียนครูในสาขาปฐมวัยและประถมศึกษา จนจบเพื่อกลับไปปฏิบัติงาน (สอนและพัฒนา) ณ โรงเรียนภูมิลำเนาขอบตน รวมถึงส่งเสริมให้สถาบันผลิตและพัฒนาครูเกิดการปรับปรุงการเรียนการสอน หลักสูตร การฝึกประสบการณ์ และกิจกรรมเสริมให้เหมาะสม และสอดคล้องกับการเป็น “ครู” ในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน